ฟ้าทะลายโจร กับไข้หวัด
แชร์:
facebook_share
line_share
twitter_share messenger_share

ฟ้าทะลายโจร กับไข้หวัด


ฟ้าทะลายโจร เป็นยาที่มีความหมายในตัวเองไม่น้อย เพราะเป็นยาที่ฟ้าประทานมาให้ปราบโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ วงการแพทย์จีนได้ยก ฟ้าทะลายโจร ขึ้นเป็นยาตำราหลวงที่มีสรรพคุณโดดเด่นมากตัวหนึ่งเพราะมีฤทธิ์แรงพอที่จะรักษาโรคได้ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่หาได้ยากในสมุนไพรตัวอื่น

 

     ตามทฤษฏีการแพทย์แผนไทย และแผนจีน ฟ้าทะลายโจร จัดเป็นยารสเย็น หมายถึง เมื่อรับประทาน ฟ้าทะลายโจร แล้วทำให้อุณหภูมิในร่างกายลดลง จึงนำมาใช้เป็นยาลดไข้ ซึ่งเมื่อรับประทานยาเย็นติดต่อกันนาน ๆ  แต่นานเท่าใด ในทางการแพทย์ไม่สามารถระบุได้เนื่องจากขึ้นกับธาตุพื้นฐานของร่างกาย ถ้าร่างกายมีความเย็นมากก็อาจเกิดได้เร็ว แต่ถ้าร่างกายมีความร้อนสะสมมากก็อาจจะเกิดช้า อาจจะทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ แขนขาชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือความเข้มข้นของเลือดลดลง อาการต่าง ๆ เหล่านี้สามารถกลับมาสู่ปกติได้เมื่อหยุดรับประทานยารสเย็น ซึ่งจากรายงานการวิจัยต่าง ๆ ของ ฟ้าทะลายโจร ก็ไม่พบผลข้างเคียงดังกล่าว

 

          ฟ้าทะลายโจร

ชื่อวิทยาศาสตร์        Andrographis paniculata (Burm. F) Wall. ex Nees

ชื่อวงศ์                  ACANTHACEAE

ชื่ออื่น ๆ                 ฟ้าทะลาย , น้ำลายพังพอน, หญ้ากันงู, สามสิบดี, คีปังฮี,ซีปังกี, ชวนซินเหลียน, ชวงซิมไน้ Creat, Green chireta,Kalmegh, King of bitters, Kirayat

 

           ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์

     ใบ ฟ้าทะลายโจร มีสารเคมีประกอบอยู่หลายประเภท แต่ที่เป็นสารสำคัญในการออกฤทธิ์ คือ สารกลุ่ม Lactone คือ สารแอนโดรกราโฟไลด์ (andrographolide) สารนีโอแอนโดรกราโฟไลด์ (neo-andrographolide) 14-ดีอ๊อกซี่แอนโดรกราโฟไลด์ (14-deoxy-andrographolide)

     วัตถุดิบ ฟ้าทะลายโจร ที่ดีควรมีปริมาณแลคโตนรวมคำนวณเป็นแอนโดรกราโฟไลด์ ไม่ต่ำกว่า 6 % และไม่ควรเก็บวัตถุดิบไว้นาน ๆ เพราะปริมาณสารสำคัญจะลดประมาณ 25 % เมื่อเก็บไว้ 1 ปี

     ฟ้าทะลายโจร เป็นยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติของประเทศไทย โดยมีข้อบ่งใช้ในการบรรเทาอาการของโรคหวัด (common cold) เช่น เจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ น้ำมูกไหล และบรรเทาอาการท้องเสียชนิดไม่ติดเชื้อ

 

         ผลการศึกษาทางเภสัชวิทยา

     การศึกษาในสัตว์ทดลองหรือในหลอดทดลอง พบว่า สารสกัดหรือสาระสำคัญของ ฟ้าทะลายโจร มีฤทธิ์ทางยาหลายประการ ดังนี้

1. ฤทธิ์ลดการบีบหรือหดเกร็งตัวของทางเดินอาหาร

2. ฤทธิ์ลดอาการท้องเสีย โดยทำให้การสูญเสียน้ำทางลำไส้จากสารพิษของแบคทีเรียลดลง

3. ฤทธิ์ลดไข้และต้านการอักเสบ

4. ฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน

5. ฤทธิ์ป้องกันตับจากสารพิษหลายชนิด เช่น จากยาแก้ไข้พาราเซตามอน หรือเหล้า

6. ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ

7. ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด

 

          ประสิทธิผลในการรักษาโรคจากรายงานการวิจัยทางคลินิก

1. การศึกษาประสิทธิผลในการบรรเทาอาการหวัด (Common cold)

     ผลการทดลองให้ยาเม็ดสารสกัด ฟ้าทะลายโจร ที่ควบคุมให้มีปริมาณของแอนโดกราโฟไลด์ และ ดีออกซีแอนโดรกราไฟไลด์รวมกันไม่น้อยกว่า 5 มิลลิกรัม /เม็ด ครั้งละ 4 เม็ด วันละ 3 เวลา ในผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัด พบว่า วันที่ 2 หลังได้รับยา ความรุนแรงของอาการอ่อนเพลีย นอนไม่หลับ เจ็บคอ น้ำมูกไหล ในกลุ่มที่ได้รับยา ฟ้าทะลายโจร น้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ และในวันที่ 4 หลังได้รับยา ความรุนแรงของทุกอาการได้แก่ อาการไอ เสมหะ น้ำมูกไหล ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดหู นอนไม่หลับ เจ็บคอ ในกลุ่มที่ได้รับยา ฟ้าทะลายโจร น้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ

     อีกทั้งพบว่า ฟ้าทะลายโจร มีฤทธิ์ลดการแบ่งตัวของเชื้อไวรัส และทำให้ความสามารถของเชื้อไวรัสในการเกาะติดกับผนังเซลล์ลดลง ทำให้เชื้อไวรัสเข้าสู่เซลล์ได้ยากขึ้น นอกจานี้ ฟ้าทะลายโจร ยังมีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ทำให้มีร่างกายสามารถต่อสู้กับเชื้อไวรัสได้ดีขึ้น

2. รักษาอาการไข้เจ็บคอ (Pharyngotonsillitis)

     ผู้ป่วยที่ได้รับยา ฟ้าทะลายโจร ขนาด 6 กรัม/วัน หรือพาราเซทตามอล 3 กรัม / วัน หายจากไข้ และอาการเจ็บคอได้มากกว่ากลุ่มที่ได้ ฟ้าทะลายโจร ขนาด 3 กรัม / วัน อย่างมีนัยสำคัญในวันที่ 3 หลังรักษา แต่ผลการรักษาไม่มีความแตกต่างกันในวันที่ 7 นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลชุมชนบางแห่งได้ใช้ ฟ้าทะลายโจร รักษาอาการเจ็บคอได้ ผลดีอีกด้วย มีฤทธิ์เช่นเดียวกับเพนนิซิลินเมื่อเทียบกับยาแผนปัจจุบัน เท่ากับเป็นการช่วยให้มีผู้สนใจทดลองใช้ยานี้รักษาโรคต่าง ๆ มากขึ้น

3. การรักษาโรคอุจจาระร่วง และบิดแบคทีเรีย (Bacilliary dysentery)

     ผู้ป่วยที่ได้รับ ฟ้าทะลายโจร ทั้งขนาด 500 มิลลิกรัม ทุก 6 ชั่วโมง และขนาด 1 กรัม ทุก 12 ชั่วโมง เทียบกับยาเตตร้าซัยคลิน พบว่า สามารถสามารถลดจำนวนอุจจาระร่วง (ทั้งความถี่และปริมาณ) และจำนวนน้ำเกลือที่ให้ทดแทนในการรักษาโรคอุจจาระ และบิดแบคทีเรียได้อย่างน่าพอใจ ลดการสูญเสียน้ำได้มากกว่ากลุ่มที่ได้ยาเตตร้าชัยคลิน และมีการศึกษาวิจัยของโรงพยาบาลบำราศนราดูร ถึงฤทธิ์ในการรักษาโรคอุจจาระร่วงและบิด แบคทีเรีย เปรียบเทียบกับ เตตร้าซัยคลิน ในผู้ป่วย 200 ราย อายุระหว่าง 16-55 ปี ได้มีการเปรียบเทียบระยะเวลาที่ถ่ายอุจจาระเหลว จำนวนอุจจาระเหลว น้ำเกลือที่ให้ทดแทนระหว่าง ฟ้าทะลายโจร กับเตตร้าซันคลิน พบว่าสมุนไพร ฟ้าทะลายโจร ลดจำนวนอุจจาระร่วง และจำนวนน้ำเกลือที่ให้ทดแทนอย่างน่าพอใจ แม้ว่าจากการทดสอบทางสถิติ จะไม่มีความแตกต่างทางนัยสำคัญก็ตาม ส่วนการลดเชื้ออหิวาตกโรคในอุจจาระ ฟ้าทะลายโจรไม่ได้ผลดีเท่าเตตร้าซัยคลิน

 

          ข้อบ่งใช้

1. ฟ้าทะลายโจร ควรใช้เมื่อมีอาการของหวัดอาการใดอาการหนึ่ง เช่น เจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หรือมีน้ำมูก โดยอาการเจ็บคอรับประทานครั้งละ 3-6 แคปซูล (แคปซูลขนาด 500 มิลลิกรัม) วันละ 4 ครั้ง

ส่วนการบรรเทาอาการหวัดให้รับประทานครั้งละ 2-3 แคปซูล (แคปซูลขนาด 500 มิลลิกรัม) วันละ 4 ครั้ง โดยแนะนำให้รับประทานติดต่อกันไม่เกิน 7 วัน หากอาการไม่ดีขึ้นควรรีบไปพบแพทย์

2. ระงับอาการอักเสบ หลอดลมอักเสบ ขับเสมหะ

3. รักษาอาการปวดท้อง ท้องเสีย บิด และกระเพาะลำไส้อักเสบ

4. เป็นยาขมเจริญอาหาร

 

          ข้อควรระวังในการใช้ ฟ้าทะลายโจร

1. ฟ้าทะลายโจร อาจทำให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องเดิน ปวดเอว หรือวิงเวียนศีรษะ ใจสั่น ในผู้ป่วย บางราย หากมีอาการดังกล่าว ควรหยุดใช้ ฟ้าทะลายโจร

2. หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้แขนขามีอาการชาหรืออ่อนแรง

3. หาก ใช้ฟ้าทะลายโจร ติดต่อกัน 3 วัน แล้วไม่หาย หรือมีอาการรุนแรงขึ้นระหว่างใช้ยา ควรหยุดใช้ และไปพบแพทย์

4. สตรี มีครรภ์ไม่ควรใช้ ฟ้าทะลายโจร การที่ห้ามใช้ในสตรีตั้งครรภ์ และให้นมบุตร เนื่องจากมีการศึกษาในหนูทดลองพบว่าน้ำต้ม ฟ้าทะลายโจร มีผลทำให้หนูแท้งได้

5. แม้ว่า ฟ้าทะลายโจร จะมีประโยชน์ในการรักษาโรคอย่างกว้างขวาง และดูเหมือนจะมีพิษน้อย แต่เนื่องจากเป็นยาเย็นจัด การกิน ฟ้าทะลายโจร รักษาโรคนาน ๆ ติดต่อกันหลายปีอาจจะเกิดอาการข้างเคียงได้ เช่น มีอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย แขนขาไม่มีแรง เป็นต้น

 

          ข้อห้ามในการใช้ ฟ้าทะลายโจร

     ห้ามใช้ ฟ้าทะลายโจร สำหรับแก้เจ็บคอในกรณีต่าง ๆ ต่อไปนี้

1. ในผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บคอเนื่องจากติดเชื้อ Streptococcus group A

2. ในผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคไตอักเสบเนื่องจากเคยติดเชื้อ Streptococcus group A

3. ในผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคหัวใจรูห์มาติค

4. ในผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บคอเนื่องจากมีการติดเชื้อแบคทีเรีย และมีอาการรุนแรง เช่น มีตุ่มหนองในคอ มีไข้สูง หนาวสั่น

 

อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม

ฟ้าทะลายโจร สมุนไพรไทยสรรพคุณล้นเหลือ

การใช้ ฟ้าทะลายโจร ให้ถูกต้องและปลอดภัย


แท็ก :


บทความที่น่าสนใจ

สอบถามเพิ่มเติม คลิก

payment
แจ้งชำระเงิน คลิก