ตรวจโควิด - 19 มีแบบไหนบ้าง ?
แชร์:
facebook_share
line_share
twitter_share messenger_share

ตรวจโควิด - 19 มีแบบไหนบ้าง ?


 

1. ตรวจโควิด – 19 แบบ Real-time RT PCR

     วิธีแรกเป็นการตรวจสารพันธุกรรมของไวรัสด้วยวิธี Real-time RT PCR ซึ่งเป็นวิธีที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ และประเทศไทยพร้อมใช้อยู่ในปัจจุบัน องค์การอนามัยโลกแนะนำ การตรวจด้วยวิธีนี้มีข้อดีคือ มีความจำเพาะ และแม่นยำสูง สามารถทราบผลภายใน 1-2 วัน และสามารถตรวจจับเชื้อไวรัสในปริมาณน้อย ๆ ได้

     ดังนั้น ไม่ว่าจะเชื้อไวรัสนั้น คือเชื้อเป็น หรือเชื้อตาย ก็สามารถตรวจจับได้หมดจากสารคัดหลั่งทางเดินหายใจส่วนบน ส่วนล่าง ของผู้สงสัยติดเชื้อ ถือว่าเป็นวิธีที่เหมาะสมสำหรับการตรวจวินิจฉัยโรคเพื่อการรักษาที่รวดเร็ว ตั้งแต่ระยะแรกของการเกิดโรค

 

2. ชุด ตรวจโควิด – 19 แบบ Rapid Test

     คือ ชุดทดสอบอย่างง่าย และรวดเร็ว สำหรับการตรวจหาเชื้อไวรัส และภูมิคุ้มกันโควิด-19 ซึ่งใช้เวลาในการตรวจประมาณ 10 – 30 นาที เร็วกว่าวิธีการตรวจแบบ RT-PCR ( Real Time Polymerase Chain Reaction ) ที่ใช้เวลาประมาณ 24 – 48 ชั่วโมง แต่การตรวจแบบ Rapid Test เป็นแค่เพียงการคัดกรองเบื้องต้นเท่านั้น ผลลัพธ์จะยืนยันได้ ก็ต่อเมื่อเข้ารับการตรวจยืนยันผลจากห้องปฏิบัติการ ด้วยวิธีการตรวจแบบ RT-PCR ที่โรงพยาบาลเท่านั้น

     ถึงแม้ว่าการตรวจแบบ Rapid Test จะไม่สามารถยืนยันผลลัพธ์การติดเชื้อโควิด-19 ที่แม่นยำได้ แต่ก็สามารถใช้คัดกรองในเบื้องต้น เหมาะสำหรับผู้ที่สงสัยว่าติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ เพื่อลดปัญหาความแออัด และการรอคิวนานจากการเดินทางไปตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาล และยังเป็นอีกทางเลือกที่ช่วยให้ตรวจพบเชื้อได้เร็วขึ้น เพื่อให้เข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที

      ชุด ตรวจโควิด – 19 แบบ Rapid Test แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ Rapid Test ชนิดตรวจ Antigen ( Rapid Antigen Test ) กับชนิดตรวจ Antibody ( Rapid Antibody Test ) ซึ่งมีจุดประสงค์ในการตรวจที่แตกต่างกัน ดังนี้

  • Rapid Antigen Test คือ การตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยใช้วิธีการ Swab เก็บตัวอย่างสารคัดหลั่ง ที่บริเวณจมูกลึกถึงคอ เก็บจากลำคอ หรือเก็บจากบริเวณอื่น ขึ้นอยู่กับวิธีการเก็บตัวอย่างของชุดการตรวจนั้น ๆ ซึ่งวิธีการตรวจนี้ ผู้ตรวจจะต้องรับเชื้อมาแล้ว 5 – 14 วัน ถึงจะได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำ เพราะหากเชื้อไวรัสที่มีอยู่น้อย ก็อาจทำให้วิธีการตรวจนี้ไม่พบเชื้อ ดังนั้น จำเป็นจะต้องไปตรวจแบบ RT-PCR ซ้ำที่โรงพยาบาล
  • Rapid Antibody Test คือ การตรวจหาภูมิคุ้มกันโควิด-19 โดยใช้วิธีการเจาะเลือดที่บริเวณปลายนิ้ว หรือท้องแขน ผู้ตรวจจะต้องรับเชื้อมาแล้ว 10 วันขึ้นไป ถึงจะตรวจเจอภูมิคุ้มกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น วิธีการตรวจนี้มีโอกาสคลาดเคลื่อนสูง เพราะภูมิคุ้มกันโควิด-19 ไม่ได้มาจากการติดเชื้อเพียงอย่างเดียว แต่อาจจะมาจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 หรือแม้กระทั่งผู้ป่วยโควิด-19 ที่หายป่วยดีแล้ว ก็สามารถตรวจพบได้

      อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยอนุญาตให้ประชาชนซื้อมาใช้ตรวจเองได้ แค่ชุด Rapid Antigen Test เท่านั้น ( ทางภาครัฐจะเรียกว่าชุด Antigen Test Kit ) โดยจะเริ่มให้ซื้อได้ในสัปดาห์หน้า ส่วนชุด Rapid Antibody Test อนุญาตให้ใช้ได้แค่ในสถานพยาบาล เนื่องจากชุด Rapid Antibody Test มีโอกาสคลาดเคลื่อนสูง และหากผู้ใช้เจาะเลือดไม่ถูกวิธี อาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ โดยขณะนี้มีชุด Rapid Antigen Test ขึ้นทะเบียนกับอย. แล้วทั้งหมด 24 ยี่ห้อ จึงทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนไทยว่า ราคาชุดตรวจนั้นแพงไปสำหรับค่าแรงขั้นต่ำหรือเปล่า เพราะการตรวจด้วยชุด Rapid Antigen Test จะต้องมีการตรวจซ้ำมากกว่าหนึ่งครั้งตามคำแนะนำ ซึ่งแปลว่า หนึ่งคนใช้ไม่ต่ำกว่า 1 ชุด คงต้องรอติดตามต่อไปว่า ทางภาครัฐจะมีการปรับราคาหรือมีมาตรการการเบิกจ่ายออกมารองรับต่อไปหรือไม่

 

          ข้อควรระวังในการใช้งานชุด ตรวจโควิด – 19 แบบ Rapid Test

  • เก็บรักษาชุดตรวจในอุณหภูมิที่กำหนด และตรวจสอบวันหมดอายุก่อนใช้งาน
  • เตรียมพื้นที่สำหรับการตรวจที่เหมาะสม ทำความสะอาดพื้นที่ที่จะวางแผ่นตรวจด้วยแอลกอฮอล์
  • อย่าเปิด หรือฉีกบรรจุภัณฑ์จนกว่าจะใช้งาน
  • ไม่ใช้อุปกรณ์ หรือตลับทดสอบซ้ำ
  • การเตรียมตัวก่อนเริ่มตรวจ
  • ไม่ควรดื่ม หรือทานอาหาร ก่อนการตรวจเชื้ออย่างน้อย 30 นาที
  • หากเพิ่งมีเลือดกำเดาไม่เกิน 24 ชั่วโมง ให้หลีกเลี่ยงการตรวจไปก่อน หรือให้ตรวจจากรูจมูกข้างที่ไม่มีเลือดกำเดาไหล
  • หากเจาะจมูก ต้องถอดห่วง หรือจิลที่เจาะจมูกออกก่อนทำการตรวจ พยายามหลีกเลี่ยงการตรวจจากจมูกข้างที่เจาะ

 

         วิธีการใช้ชุดตรวจ Rapid Antigen Test

  • ล้างมือด้วยสบู่ น้ำสะอาด และเจลแอลกอฮอล์
  • เริ่มเก็บตัวอย่างเชื้อ ด้วยการใช้ก้านสำลีสำหรับ swab โดยทำตามคำแนะนำที่มากับชุดตรวจอย่างเคร่งครัด เช่น การแหย่จมูก การแหย่ลำคอ กระพุ้งแก้ม เป็นต้น ซึ่งจะหมุนก้านลำสีประมาณ 3 – 4 ครั้ง หรือ 3 วินาที
  • นำก้านสำลีมาหมุนใส่หลอดที่มีสารละลายตรวจเชื้อ หมุนวนอย่างน้อย 5 ครั้ง หรือ 15 วินาที แล้วบีบสำลีให้แห้งผ่านหลอด ห้ามให้มือสัมผัสกับก้านสำลีหรือสารละลายเด็ดขาด
  • เมื่อเสร็จแล้วให้นำก้านสำลีทิ้งใส่ซีล และหยดสารละลายลงในแท่นตรวจ ตามจำนวนหยดที่ชุดตรวจกำหนดไว้ รอผล 15 – 30 นาที

 

          วิธีอ่านค่าผลตรวจ

  • หากตรงตัวอักษร C ขึ้นขีดเดียว แปลว่า ผลตรวจเป็นลบ ( ไม่ติดเชื้อ )
  • หากตรงตัวอักษร C และ T ขึ้น 2 ขีด แปลว่า ผลตรวจเป็นบวก ( พบเชื้อ )
  • หากไม่มีขีดที่ตัว C และ T หรือปรากฎแค่ตรง T แปลว่า แผ่นเทสเสีย

 

     กรณีผลเป็นบวก ( พบเชื้อ ) ให้ปฏิบัติ ดังนี้

  • เข้ารับการตรวจยืนยันผลแบบ RT-PCR ซ้ำที่โรงพยาบาล
  • ระหว่างนั้นให้กักตัวเองแยกจากผู้อื่น และหลีกเลี่ยงการใช้ของร่วมกัน
  • แจ้งผู้ใกล้ชิดที่มีความเสี่ยง ให้เข้ารับการตรวจเชื้อ

 

กรณีผลเป็นลบ ( ไม่พบเชื้อหรือเชื้อมีปริมาณไม่มากพอ ) ให้ปฏิบัติ ดังนี้

  • หากเป็นผู้ที่สงสัยว่าอาจจะติด ให้ทำการทดสอบซ้ำอีกใน 5 – 7 วัน ในระหว่างนั้นต้องกักตัวแยกจากผู้อื่นเช่นเดียวกับผู้ติดเชื้อ
  • หากมีอาการของโรคโควิด-19 ให้ทำการทดสอบซ้ำทันที โดยเฉพาะหากมีอาการทางเกี่ยวกับการหายใจ ให้ไปตรวจซ้ำด้วยวิธี RT-PCR ทันที

 

วิธีทิ้งชุด ตรวจโควิด – 19 แบบ Rapid Test หลังตรวจเสร็จ

     ควรใส่ชุดจรวจที่ใช้แล้วลงซีล แล้วทิ้งในถุงขยะแยกจากขยะอื่น ๆ โดยต้องปิดปากถุงขยะให้แน่นหนา และมิดชิด ห้ามไม่ให้ขยะหลุดรอดออกมาได้ เป็นไปได้ควรใส่ขยะในถุงสีแดง เพราะใช้สำหรับใส่ขยะติดเชื้อ หรืออาจแปะป้าย/ทำสัญลักษณ์ ให้รู้ว่าเป็นขยะติดเชื้อ

 

     ในช่วงเวลานี้ การเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เป็นเรื่องที่ลำบากมาก เนื่องจากชุดอุปกรณ์ไม่เพียงพอ รวมทั้งความแออัดเบียดเสียดในการรอตรวจ ชุดตรวจ Rapid Antigen Test จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ออกมารองรับปัญหาเหล่านี้ แม้จะไม่สามารถการันตีผลได้ แต่อย่างน้อยก็สามารถใช้คัดกรองเบื้องต้นได้ โดยหวังว่าในอนาคต ชุดตรวจเหล่านี้จะสามารถซื้อได้ง่าย และมีราคาที่จับต้องได้สำหรับคนทุกกลุ่มทุกรายได้มากยิ่งขึ้น

 

อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม

ฟ้าทะลายโจร กินอย่างไรให้ปลอดภัย

ข้อแตกต่างของ ฟ้าทะลายโจร ชนิดผง และสารสกัด


แท็ก :


บทความที่น่าสนใจ

สอบถามเพิ่มเติม คลิก

payment
แจ้งชำระเงิน คลิก