คนไทยส่วนใหญ่เมื่ออายุมากขึ้นเริ่มประสบปัญหาเรื่องสุขภาพเกี่ยวกับความดันโลหิต ทำให้หลาย ๆ คนพยายามหา สมุนไพร มาช่วยในเรื่องความดันโลหิตของตนเอง อย่างไรก็ตามคุณควรศึกษาหาข้อมูลให้ดีก่อนรับประทาน
โรคความดันโลหิตสูง เป็นอีกหนึ่งโรคยอดนิยมที่คนจำนวนมากมักป่วยกัน และ มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการรักษาโรคนี้นั้นนอกจากจะรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบัน และ การทานยาควบคู่ไปแล้วนั้น ยังสามารถรักษาได้ด้วยการทานอาหาร และ การทาน สมุนไพร ของไทยได้อีกด้วย แถม สมุนไพร ที่ว่านี้ หาซื้อได้ง่าย ทานง่าย และ ไม่ต้องผ่านวิธีการทำที่ยุ่งยาก
สาเหตุของความดันโลหิตสูง
มากกว่า 90 % เป็นความดันโลหิตสูงชนิดไม่ทราบสาเหตุ ( Essential Hypertension ) มักพบได้บ่อยในรายที่มีประวัติครอบครัวเป็นความดันโลหิตสูง อายุมากส่วนใหญ่กลุ่มที่ทราบสาเหตุพบได้น้อย ซึ่งเกิดได้ในผู้ป่วยที่มีโรคอยู่แล้ว เช่น โรคไต หลอดเลือดที่ไตตีบ ครรภ์เป็นพิษ เนื้องอกบางชนิด โรคทางต่อมหมวกไตยาบางอย่าง เป็นต้น
เมื่อไร ? เรียกว่าความดันโลหิตสูง
การวัดความดันโลหิตสูง ค่าความดันที่วัดได้จะออกมา 2 ค่า คือ ค่าความดันตัวบน และ ค่าความดันตัวล่าง
ค่าความดันตัวบน คือ ระดับความดันโลหิตขณะที่หัวใจบีบตัว มากกว่า หรือ เท่ากับ 140 ( mm/Hg ) ขึ้นไป
ค่าความดันตัวล่าง คือ ระดับความดันโลหิตขณะที่หัวใจคลายตัว มากกว่า หรือ เท่ากับ 90 ( mm/Hg ) ขึ้นไป
ซึ่งตัวเลขทั้งสองค่าจะรายงานเป็นมิลลิเมตรปรอท ( mm/Hg ) โดยระดับความดันทั้ง 2 ค่า ยิ่งสูงมากก็ยิ่งจะมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้มากขึ้นตามลำดับ
ซึ่ง สมุนไพร ที่ช่วยในเรื่องความดันโลหิตสูงนั้นจะมีอะไรบ้าง และ ต้องรับประทานอย่างไร ไปดูกันเลย
1. กระเทียม
อาจารย์คาริน รีด อาจารย์ประจำคณะแพทย์เวชทั่วไป แห่งมหาวิทยาลัยอเดเลด ออสเตรเลีย พบว่า สารสกัดจากกระเทียมสามารถลดความดันโลหิตลงได้ แต่ควรเป็นหัวกระเทียมแก่ เพราะหากเป็นกระเทียมอ่อน หรือ กระเทียมที่ผ่านการปรุงสุกแล้ว จะได้สรรพคุณไม่เทียบเท่ากับหัวกระเทียมแก่
2. ใบกะเพรา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แนะนำให้ผู้ที่มีความดันสูงรับประทานใบกะเพราเป็นประจำ ซึ่งการรับประทานใบกะเพรามีหลากหลายวิธี ตั้งแต่การนำใบมาเคี้ยวรับประทานสด ๆ, นำไปคั้นแล้วผสมกับน้ำอุ่นดื่ม, นำไปตากแห้งเหมือนใบชาแล้วนำมาชงผสมกับชา และ ดอกคาโมมายด์ หรือ จะนำไปผัดกับเนื้อสัตว์แล้วรับประทานเป็นกับข้าวก็ล้วนได้ประโยชน์
3. กระเจี๊ยบแดง
เนื่องจากในกระเจี๊ยบแดงมีสารแอนโธไซยานิน ( anthocyanins ) ซึ่งเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วก็จะไปช่วยเสริมสร้างให้หลอดเลือดแข็งแรง วิธีรับประทานกระเจี๊ยบก็เพียงนำกลีบเลี้ยงของดอกกระเจี๊ยบไปตากแห้ง แล้วนำมาบดชงดื่มวันละ 3 ครั้ง เป็นประจำทุกวัน ก็จะทำให้ความดันโลหิตลดลงได้
4. บัวบก
น้ำใบบก นอกจากจะช่วยแก้อาการช้ำในได้แล้ว ยังมีคุณประโยชน์อีกมากมาย โดยเฉพาะสรรพคุณในการลดความดัน โดยกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย และ การแพทย์ทางเลือก ได้แนะนำว่าการดื่มน้ำใบบัวบกเป็นประจำทุกวัน จะทำให้ความดันโลหิตลดลงได้ แถมเจ้าบัวบกนี้ยังช่วยทำให้หลอดเลือดดำ และ เส้นเลือดฝอยแข็งแรงขึ้น ช่วยคลายเครียดได้ ซึ่งความเครียดนั้นเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ความดันโลหิตสูง
5. ตะไคร้
นอกจากจะมีสรรพคุณในการขับปัสสาวะ และ ขับลมแล้ว ยังช่วยลดความดันโลหิตได้ด้วย และ กลิ่นจากน้ำมันหอมระเหยยังช่วยบรรเทาอาการปวดหัวที่เนื่องมาจากความเครียดได้ และ ที่สำคัญตะไคร้ยังเป็นพืชสมุนไพรที่หาง่าย และ สามารถปลูกเป็นพืชผักสวนครัวได้
6. ขึ้นฉ่าย
ขึ้นฉ่าย เป็น สมุนไพร ที่ชาวเอเชียนำมาใช้เป็นยาลดความดันโลหิตต่อเนื่องกันมายาวนานกว่า 2,000 ปี โดยชาวจีน และ เวียดนามเชื่อว่าการรับประทานขึ้นฉ่ายวันละ 4 ต้น จะทำให้ความดันโลหิตเป็นปกติ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยขึ้นฉ่ายกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา พบว่าขึ้นฉ่ายมีฤทธิ์ในการลดความดันโลหิต คุมกำเนิด ยับยั้งมะเร็ง ลดคอเลสเตอรอล และ ไตรกลีเซอไรด์ได้อีกด้วย
7. ฟ้าทะลายโจร
เป็น สมุนไพร ที่มากสรรพคุณจนคนที่เคยไม่ชอบมัน อาจจะเปลี่ยนความคิดได้ โดยเฉพาะสรรพคุณในการลดความดันโลหิต ซึ่งสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับฟ้าทะลายโจร และ พบว่า สารสกัดจากฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ในการลดความดันโลหิต ช่วยในการขยายตัวของหลอดเลือด และ ลดอัตราการเต้นของหัวใจไม่ให้เร็วจนเกินไป
8. ขิง
เป็น สมุนไพร โบราณที่นำมาใช้ในการรักษาโรคมากกว่า 5,000 ปี ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยย่อยอาหาร แต่ยังช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด และ ช่วยลดความดันโลหิตได้อีกด้วย ที่สำคัญควรใช้อย่างระมัดระวังเนื่องจากขิงเป็นพืชที่มีฤทธิ์ร้อน หากรับประทานมากไปอาจจะทำให้เกิดร้อนใน และ แผลในกระเพาะอาหารได้ นอกจากนี้ผู้ที่มีนิ่วในถุงน้ำดี และ รับประทานยาละลายลิ่มเลือดควรปรึกษาแพทย์ และ ระมัดระวังในการใช้
9. มะกรูด
มะกรูด เป็น สมุนไพร ที่มากด้วยสรรพคุณทางยา แถมยังนิยมนำส่วนของใบ และ น้ำของผลมะกรูดมาใช้ในการทำอาหารอีกด้วย นอกจากนี้ เภสัชกรหญิงจุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก เภสัชกร 8 วช. ศูนย์บริการการสาธารณสุข ยังได้แนะนำเอาไว้ในหนังสือ สมุนไพรลดความดันโลหิตสูง ว่ามะกรูดมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาช่วยลดความดันโลหิต และ ช่วยต้านเชื้อแบคเรีย โดยการนำใบมะกรูด 7-10 ใบมาต้มน้ำ ดื่มเช้าเย็นเป็นประจำทุกวันก็จะช่วยให้ความดันโลหิตเป็นปกติได้
10. อบเชย
อบเชย สมุนไพร ที่มีกลิ่นหอมหวานชนิดนี้ มีการวิจัยในญี่ปุุ่นพบว่ามันมีสรรพคุณในการช่วยลดความดันโลหิต โดยการนำผงอบเชยสำเร็จรูป หรือ นำอบเชยมาบดให้เป็นผงชงกับน้ำ ดื่มเช้า เย็น และ ก่อนนอน นอกจากนี้อบเชยยังช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
สมุนไพร ลดความดัน แม้ว่าจะดีต่อการลดระดับความดันโลหิตในร่างกาย และ ช่วยรักษาสุขภาพของหลอดเลือดให้แข็งแรงแล้ว แต่ก็ควรเลือกรับประทานอย่างระมัดระวัง เพราะ สมุนไพร บางชนิดอาจส่งผลต่อร่างกายได้หากใช้ไม่ถูกต้อง และ เพื่อให้เป็นผลดีที่สุดต่อร่างกาย คุณควรปรึกษาแพทย์ก่อนจะเริ่มนำ สมุนไพร เหล่านี้มาช่วยในการลดความดันโลหิต
อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม
แท็ก :
บทความที่น่าสนใจ