ไขข้อข้องใจ ฟ้าทะลายโจรต้านไวรัส
ฟ้าทะลายโจร เป็นพืชสมุนไพร ที่อยู่ในตำรับยาไทยโบราณ ใช้ในการรักษา และ บรรเทาอาการไข้หวัดทั่วไป โดยในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้มีการอ้างถึงการศึกษาสารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) สารออกฤทธิ์สำคัญที่พบในฟ้าทะลายโจร ว่ามีประสิทธิภาพ ในการยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัส และ ยับยั้งการอักเสบได้ อย่างไรก็ตาม โรคโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ จึงยังไม่มีงานวิจัยมากพอที่ยืนยันแน่ชัดได้ว่า ฟ้าทะลายโจรสามารถป้องกัน และ รักษาโรคโควิด-19 ได้
"แม้ประเด็นปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ที่เหมาะสม ยังคงเป็นข้อถกเถียง และ ยังคงต้องมีการศึกษา เพื่อติดตามประสิทธิผล และ ผลข้างเคียง แต่การใช้ฟ้าทะลายโจรเพื่อบรรเทาอาการ ที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยโควิด-19 ก็สามารถทำได้" รศ.ภญ.ดร.มยุรี ตั้งเกียรติกำจาย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าว
ในเบื้องต้นแนะนำให้รับประทานฟ้าทะลายโจรติดต่อกัน 5 วัน หากอาการไม่ดีขึ้น และ ไม่มีความเสี่ยงเรื่องโรคตับ ก็อาจจะรับประทานต่อได้อีก แต่ก็ไม่ควรเกิน 14 วันต่อเนื่อง ทั้งนี้ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์ ที่สำคัญ ห้ามใช้ฟ้าทะลายโจรคู่กับยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) เด็ดขาด” รศ.ภญ.ดร.มยุรี ย้ำว่า ไม่ควรบริโภคยาฟ้าทะลายโจรเพื่อผลในการป้องกันโรค หรือ ขณะที่ยังไม่มีอาการป่วย
“มีการศึกษาพบว่าการใช้ยาฟ้าทะลายโจร ในขนาดต่างๆ เป็นระยะเวลานาน ค่าเอนไซม์บางชนิดในตับจะสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดพิษในตับได้”
“ฉลากของยาฟ้าทะลายโจรบางยี่ห้อ ไม่มีการระบุข้อมูลปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ บางฉลาก หรือ ข้อมูลในแผ่นพับ หรือ ตาม social media มีข้อมูลที่สร้างความเข้าใจผิด อาจเป็นการจงใจหลอกหลวง หรือ ด้วยความไม่รู้ของผู้ค้า ยิ่งไปกว่านั้น บางยี่ห้อเลี่ยงโดยใช้การขึ้นทะเบียน เป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริม หรือ เป็นประเภทอื่นที่ไม่ใช่ยา และ มักจะไม่มีสมุนไพรฟ้าทะลายโจรประกอบอยู่” ผศ.ภญ.ดร.สุนทรี ชัยสัมฤทธิ์โชค จากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ เผยปัญหาด้านฉลากยาฟ้า ทะลายโจรที่พบในท้องตลาด
“การซื้อยาฟ้าทะลายโจร ผู้บริโภคต้องตรวจสอบฉลากผลิตภัณฑ์ เพื่อดูปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ที่ถูกต้องเหมาะสม กับการบริโภค ที่สำคัญ ให้สังเกตเลขทะเบียน อย. เนื่องจากยาว่าฟ้าทะลายโจรจัด เป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร ฉลากต้องมีเลขทะเบียนขึ้นต้นด้วย “G” ผศ.ภญ.ดร.สุนทรี แนะ พร้อมเสริมข้อมูล ช่องทาง ที่ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์ ฟ้าทะลายโจรที่ไม่ถูกต้องได้จากเว็บไซต์ ของสำนักคณะกรรมการอาหาร และ ยา https://www.fda.moph.go.th/
นอกจากผู้บริโภคที่ควรใส่ใจอ่านฉลากแล้ว หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข ก็ควรให้ความสำคัญ กับ “ฉลาก” เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค
อ่านบทความเพิ่มเติม
แท็ก :
บทความที่น่าสนใจ